จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อ ออกกำลังกายไปด้วยฟังเพลงไปด้วย

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อ ออกกำลังกายไปด้วยฟังเพลงไปด้วย

สวัสดีครับวันนี้แอดฯ อยากจะมาชักชวนทุกท่าน ให้หันมาสร้างสุขภาพที่แข็งแรงกันด้วยการออกกำลังกายไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายแบบไหนข้างในร่มหรือกลางแจ้ง ก็เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของเราทั้งนั้น หลายคนรู้ว่าการออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดีแต่ก็มัก จะมีเหตุผลที่ว่าไม่ค่อยมีเวลาหรือขี้เกียจ แอดฯเลยอยากจะมากระตุ้นเตือนให้เห็นถึงความสำคัญของการออกกำลังกาย ว่าเราควรจะสร้างสุขภาพ ดีกว่าซ่อมสุขภาพ

ออกกำลังกาย1
ภาพโดย andyhernandezv94 จาก Pixabay

แต่หากท่านใดที่ออกกำลังกายเป็นประจำอยู่แล้ว ก็เป็นการดีต่อสุขภาพของท่านแน่ๆ แต่วันนี้ แอดฯ อยากจะมาพูดถึงการออกกำลังกายไปด้วยและฟังเพลงไปด้วย จะเกิดผลอย่างไรต่อร่างกายของเรา ลองมาดูกัน

ประโยชน์ของการฟังเพลงขณะออกกำลังกาย

  • การฟังเพลงขณะออกกำลังกายนอกจากจะช่วยลดความเบื่อหน่ายแล้ว ยังช่วยพัฒนาคุณภาพในการออกกำลังกาย โดยการเพิ่มความทนทานได้อีกด้วย1
  • มีงานวิจัยที่ทำการวัดคลื่นสมองด้วยเครื่อง Electroencephalogram (EEG) ในขณะฟังเพลงพบว่า การฟังเพลงขณะออกกำลังกายนั้นช่วยลดคลื่นธีต้า (Theta waves) ชนิดความถี่ 4-7 เฮิร์ต (Hz) ได้2ซึ่งกระบวนการนี้เกี่ยวข้องกับการระงับอาการเมื่อยล้าต่างๆ3 นี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายคนบอกว่า หากวิ่งพร้อมฟังเพลงไปด้วย จะทำให้วิ่งได้นานขึ้นก็เป็นได้
  • เมื่อดูผลของการฟังเพลงที่มีต่อระบบการทำงานของร่างกายขณะออกกำลังกาย พบว่า การฟังเพลงที่ทำให้เรารู้สึกสนุกสนานจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตขึ้น 26 เปอร์เซ็นต์ ในทางตรงข้าม หากฟังเพลงที่ฟังแล้วหดหู่ การไหลเวียนโลหิตก็จะลดลงไปถึง 6 เปอร์เซ็นต์4 ซึ่งการไหลเวียนของโลหิตที่เพิ่มขึ้นก็จะช่วยให้ร่างกายนำออกซิเจนไปใช้ได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน

ถึงตอนนี้หลายคนคงพอจะทราบถึงประโยชน์ของการฟังเพลงไปบ้างแล้ว ก็อาจจะมีคำถามเกิดขึ้นว่า แล้วต้องเลือกเพลงแบบไหนมาใช้ฟังขณะออกกำลังกายกันนะครับ

บทความน่าอ่านอื่นๆ

การเลือกระดับความเร็วของเพลงที่ฟังขณะออกกำลังกายก็ส่งผลต่อประสิทธิภาพการออกกำลังกายได้ มีงานวิจัยพบว่า การฟังเพลงที่มีจังหวะเร็วจะส่งผลดีต่อสมรรถภาพทางกาย เมื่อออกกำลังกายที่ระดับความหนักเบาถึงปานกลาง 5 โดยที่การออกกำลังกายแต่ละชนิดก็จะมีระดับความเร็วของจังหวะเพลงที่เหมาะสมแตกต่างกัน เช่น หากต้องการปั่นจักรยานให้มีสมรรถภาพทางกายสูงสุดก็ควรเลือกฟังเพลงที่จังหวะความเร็ว 125 – 140 BPM6 หรือเวลาวิ่งบนลู่วิ่งสายพานให้มีสมรรถภาพทางกายสูงสุดก็ควรเลือกฟังเพลงที่จังหวะความเร็ว 123-131 BPM7

ฟังเพลง
ภาพโดย FitNishMedia จาก Pixabay

แต่ทั้งนี้ร่างกายของแต่ละบุคคลก็จะตอบสนองต่อระดับจังหวะความเร็วของเพลงที่แตกต่างกัน ลองเลือกเพลงที่คุณชอบ ที่สามารถทำให้การออกกำลังกายของคุณสนุกสนาน มาจัดเพลย์ลิสต์ให้เหมาะสม แล้วไปออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอกันเถอะ

ไม่ว่าท่านจะเคร่งเครียดกับงานแค่ไหน แอดฯก็อยากให้ท่านหันมาดูแลสุขภาพบางจำไว้สุขภาพดีต้องสร้างเอง ไม่มีคำว่าสายหากจะเริ่มต้น “สร้างสุขภาพ ดีกว่าซ่อมสุขภาพ”ครับ

ขอขอบคุณที่มาจาก thaihealth.or.th