การปฏิบัติดูแลรักษาลำไยในรอบปี

การปฏิบัติดูแลรักษาลำไยในรอบปี

แอดฯมีข้อมูลดีๆเกี่ยวกับการจัดการลำไยมาฝาก การปฏิบัติดูแลรักษานับเป็นสิ่งสำคัญมากในการผลิตลำไย ซึ่งจะต้องปฏิบัติอย่างถูกต้องและต่อเนื่องจึงจะได้ผลดี ดังนั้นเกษตรกรเองจำเป็นจะต้องทราบว่าในรอบปีหนึ่งๆ จะต้องทำอะไรบ้างและจะต้องทำในระยะใด ซึ่งจะต้องให้สัมพันธ์กัน สำหรับการปฏิบัติดูแลรักษาลำไยในรอบปีสามารถแบ่งตามระยะต่างๆได้ดังนี้มาดูกัน

ระยะบำรุงต้นให้สมบูรณ์

  1. หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตหมดแล้วให้ทำการตัดแต่งกิ่งที่ไม่ต้องการออกไป การตัดแต่งกิ่งในระยะนี้ก็เพื่อให้ต้นลำใยแตกยอดและใบใหม่ เป็นการเริ่มต้นในฤดูต้นไป
  2. ใส่ปุ๋ยทางดิน เช่น สูตร 46-0-0 และ 15-15-15 ในอัตราต้นละ 1-2 กิโลกรัม โดยผสมกับปุ๋ยคอกในอัตรา 3-5 ปี๊บต่อต้น
  3. ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ อย่างให้ดินแห้ง
  4. ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช และควรผสมปุ๋ยทางใบพร้อมกับการฉีดพ่นสารเคมีเพื่อกระตุ้นการแตกใบอ่อนอีกทางหนึ่งด้วย

ระยะแตกใบอ่อนและการเจริญเติบโตทางกิ่งใบ

  1. ให้น้ำตามปกติ ถ้าฝนทิ้งช่วงควรให้น้ำเพื่อรักษาความชื้นอย่างสม่ำเสมอ
  2. ในช่วงที่ลำใยแตกใบอ่อนแต่ละครั้ง มักจะมีแมลงพวกไรแดง เพลี้ยไฟ หนอนต่างๆ แมลงค่อมทอง โรคใบจุดสนิม ฯลฯ เข้าทำลาย จึงควรฉีดพ่นสารเคมีประเภทดูดซึมผสมกับประเภทถูกตัวตายและสารเคมีป้องกันกำจัดโรคประมาณ 2-3 ครั้ง โดยให้แต่ละครั้งห่างกันประมาณ 10 – 14 วัน
  3. ควรดูแลอย่าให้วัชพืชขึ้นรกมากเพราะอาจเป็นแหล่งสะสมของโรคแมลงได้

ระยะใบเพสลาดถึงใบแก่

  1. ให้น้ำตามปกติ จนกระทั่งถึงระยะใบแก่เต็มที่หรือช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมควรงดให้น้ำอย่างเด็ดขาด เพื่อให้เกิดสภาวะแห้งแล้งเพื่อกระตุ้นให้ลำไยออกดอก
  2. ถ้าพบการระบาดของโรคและแมลงควรมีการฉีดพ่นสารเคมีบ้างประมาณ 1-2 ครั้ง โดยเฉพาะในช่วงที่มีอากาศร้อนจะมีพวกไรแดงระบาดควรใช้สารเคมีกำจัดไรประมาณ 1-2 ครั้งสลับกับสารเคมีพวกไพรีทรอย
  3. ในระยะนี้พยายามรักษาความสะอาดบริเวณโคนต้นให้เตียน โดยกวาดใบหรือหญ้าออกนอกบริเวณทรงพุ่มให้หมด

ระยะแทงช่อดอกถึงดอกบาน

  1. ในระยะนี้ลำไยต้องการปุ๋ยไนโตรเจนมาก ดังนั้นควรพิจารณาใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง เช่น สูตร 25-7-7 ในอัตรา 1/2-1 กิโลกรัมต่อต้นและใส่ปุ๋ยทางใบที่มีธาตุอาหารเสริมและธาตุอาหารรองร่วมไปกับการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลงด้วย
  2. เมื่อลำไยแทงช่อดอกได้ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของทรงพุ่ม จึงเริ่มให้น้ำในปริมาณที่น้อยก่อนแล้วค่อยเพิ่มปริมาณขึ้นจนปกติ
  3. เมื่อลำไยแทงช่อดอกหมดแล้วควรรักษาความชื้นในดินโดยการใช้วัสดุต่างๆคลุมโคนต้นลำไย เช่น หญ้าแห้ง ใบลำไย ฟางข้าว เป็นต้น แต่ไม่ควรเอาใบหญ้าสด ฟางข้าวสด และปุ๋ยคอกใหม่มาคลุมโคนต้นพร้อมๆกันเพราะจะทำให้เกิดความร้อนระบบรากอาจเสียหายได้

ระยะติดผลขนาดเล็ก

  1. การให้ปุ๋ยในระยะนี้ยังจำเป็นต้องให้ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูงและเพิ่มธาตุแคลเซียมลงไป เช่น ปุ๋ยสูตร 15-0-0 ร่วมกับสูตร 15-15-15 อัตรา 1/2-1 กิโลกรัม โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ห่างกัน 15 วัน และควรใส่ปุ๋ยทางใบที่มีธาตุอาหารเสริมพร้อมกับการฉีดพ่นสารเคมีประมาณ 2 ครั้ง
  2. ให้น้ำปกติและสม่ำเสมอ ถ้าขาดน้ำในระยะนี้ผลลำไยอาจจะร่วงได้
  3. กำจัดวัชพืชอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้วัชพืชขึ้นรกมากเพราะจะไปแย่งปุ๋ยที่ให้ลำไยได้
  4. ในระยะนี้มีแมลงหลายชนิดเข้าทำลายผลลำไย เช่น เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย เพลี้ยไฟ แมลงค่อมทอง มวนลำไย ทำให้ผลลำไยร่วงหล่นเสียหายได้ ดังนั้นควรฉีดพ่นสารเคมีพวกไซเปอร์เมทธิน คาร์โบซัลแฟน เอ็นโดซัลแฟนหรือคลอไพริฟอสซ์ ส่วนโรคที่จะเข้าทำลายในช่วงนี้คือ โรคราดำ ซึ่งจะมากับเพลี้ยหอย ถ้าป้องกันเพลี้ยหอยได้โรคนี้จะไม่ค่อยระบาด
  5. ควรเริ่มทำการค้ำกิ่งได้ตั้งแต่ในระยะนี้และทยอยค้ำไปเรื่อยๆจนเสร็จ

ระยะสร้างเนื้อถึงผลแก่

  1. การใส่ปุ๋ยครั้งนี้จะเน้นให้ธาตุโบแตสเซียมมากที่สุด เช่น สูตร 0-0-50, 0-0-60, 12-12-17 หรือ 13-13-21 ในอัตรา 1/2-1 กิโลกรัมต่อต้น โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง คือครั้งแรกใส่เมื่อเริ่มสร้างเนื้อ ครั้งที่สองใส่ห่างจากครั้งแรกประมาณ 25 วัน
  2. ปกติในช่วงนี้มักจะตรงกับฤดูฝน ถ้ามีฝนตกหนักควรระบายน้ำออกจากโคนต้นและสวนหรือเว้นระยะการให้น้ำให้ห่างออกไป แต่ในช่วงผลใกล้แก่ควรงดการให้น้ำเพื่อให้ผลลำไยมีคุณภาพดี
  3. ในระยะนี้จะมีแมลงเข้าทำลายหลายชนิด เช่น หนอนเจาะขั้วผลลำไย ผีเสื้อมวนหวาน จึงควรฉีดพ่นสารเคมีประเภทดูดซึม เช่น คลอไพริฟอสซ์ คาร์โบซัลแฟน เป็นต้น ส่วนโรคที่เข้าทำลายในระยะนี้ในปัจจุบันคือ โรคผลแตกผลเน่า ซึ่งเกิดจากเชื้อรา เมื่อเป็นแล้วผลจะแตกและร่วง การป้องกันโดยใช้สารเคมีพวกเมทาแลคซิล 25% ฉีดพ่นให้ทั่วต้นประมาณ 2-3 ครั้ง ห่างกัน 7- 10 วัน

สำหรับชาวสวนลำไยทั้งหลาย

ไม่ว่าจะอยู่ในภาคไหนต้องปรับใช้ตามสภาพภูมิอากาศ ความชื้น น้ำ ฝน ฯลฯนะครับ ส่วนแอดฯขอให้ชาวสวนลำไยขายลำไยได้ราคาแพงได้กำไรเยอะครับ สาธุ..