กาชาดไทยซื้อ ‘โมเดอร์นา’ฉีดให้ประชาชนฟรี

กาชาดไทยซื้อ ‘โมเดอร์นา’ฉีดให้ประชาชนฟรี

สวัสดีครับ แอดฯขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามให้กำลังใจกัน วันนี้มีข่าว ‘สภากาชาดไทย’ ได้เจรจากับทางบริษัทผู้ผลิตวัคซีน ‘โมเดอร์นา’ (Moderna) 1 ล้านโดส เพื่อนำมาฉีดให้แก่ประชาชนฟรี รายเป็นอย่างไรมาดูกัน

สภากาชาดไทย ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 15 ก.ค.2564 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ และองค์กรบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)ในการสั่งยอดจอง วัคซีน โมเดอร์นา เพื่อนำไปฉีดให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางในท้องที่ โดยกำหนดภายในวันที่ 21 ก.ค.นี้ และจะต้องชำระค่าวัคซีนในราคา 1,300 บาท ต่อโดส โดยหากได้รับอนุมัติจากสภากาชาดไทย จะต้องชำระเงินภายในวันที่ 23 ก.ค.2564

จากสภาอุณาโลมแดง เป็น ‘สภากาชาดไทย’

  • ก่อนที่จะได้รับการฉีด วัคซีน โมเดอร์นา ฟรี (หากผู้ว่าฯ และอบจ. ได้สั่งซื้อ) ขอย้อนเรื่องราวของ ‘สภากาชาดไทย’ เหตุใด?ธนาคารเลือด ที่หลายๆ คนเรียก กลายเป็น ผู้จัดหาซื้อ วัคซีนโควิด 19 มาฉีดให้แก่ประชาชนฟรี
  • ‘สภากาชาดไทย’ เป็น องค์กรการกุศล เพื่อมนุษยธรรม ที่จัดตั้งขึ้นขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2436 (ร.ศ.112) เนื่องจากเกิดกรณีพิพาทระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศสเกี่ยวกับเขตแดนริมฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและมีการสู้รบเกิดขึ้น เป็นผลให้มีทหารเสียชีวิต และบาดเจ็บ ได้รับความทุกข์ทรมานจำนวนมาก แต่ยังไม่มีองค์การกุศลใดเข้าไปช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้เป็นกิจลักษณะ
  • กุลสตรีไทยที่สูงศักดิ์ในเวลานั้น โดยการนำของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ภริยาเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ได้ชักชวนบรรดาสตรีไทยช่วยกันเรี่ยไรเงินและสิ่งของ เพื่อส่งไปช่วยเหลือทหารที่ได้รับบาดเจ็บ และมีความเห็นว่าควรจะมีองค์การใดองค์การหนึ่งช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของทหาร เช่นเดียวกับองค์การกาชาดของต่างประเทศ จึงได้นำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ขอให้ทรงเป็นชนนีบำรุง คือ เป็นองค์อุปถัมภ์ในการจัดตั้งองค์การ เพื่อบรรเทาทุกข์ยากของทหาร
  • ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ทรงพระราชดำริว่า เป็นความคิดที่ต้องด้วยแบบอย่าง อารยประเทศที่ เจริญแล้วทั้งหลาย จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง “สภาอุณาโลมแดง” ขึ้น เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2436
  • ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงดำรงตำแหน่งพระยุพราชเสด็จ กลับจากการศึกษา ในประเทศอังกฤษผ่านมาทางประเทศญี่ปุ่น ได้เสด็จทอดพระเนตรโรงพยาบาลของกาชาดญี่ปุ่น ทำให้ทรงพระดำริว่า ถ้าได้จัดโรงพยาบาลของกาชาดขึ้นในเมืองไทย ก็จะเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง
  • ฉะนั้น เมื่อ สมเด็จพระราชบิดา เสด็จสู่ สวรรคาลัย พระองค์จึงได้ร่วมกับพระราชภราดาภคินี ทรงบริจาคทรัพย์รวมกับทุนของสภาอุณาโลมแดงที่มีอยู่ สร้างโรงพยาบาลขึ้นในที่ดินส่วนพระองค์ แล้วโปรดเกล้าฯ ขนานนามตามพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร มหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์” เพื่อเป็นอนุสรณ์ ในพระราชบิดา ให้โรงพยาบาลนี้ เป็นของสภากาชาดสยาม เมื่อ พ.ศ. 2457
  • ชื่อสภาอุณาโลมแดง และสภากาชาดนี้ เรียกปะปนกันตลอดมา แต่เมื่อ พ.ศ. 2453 ชื่อสภาอุณาโลม แดงก็สูญไป คงใช้กันแต่ สภากาชาดสยาม หรือ สภากาชาดไทย ตามชื่อประเทศ ซึ่งเปลี่ยนจาก สยามเป็นไทย

บทความน่าอ่าน

หลักการบริหารงาน ‘สภากาชาดไทย’

  • การบริหารงาน สภากาชาดไทย มีพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระบรมราชูปถัมภกสภากาชาดไทย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นสภานายิกาสภากาชาดไทย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นอุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย
  • โดยจะมีคณะกรรมการสภากาชาดไทย มีภารกิจในการควบคุมและกำกับกิจการของสภากาชาดไทยประกอบด้วย สภานายก อุปนายกผู้อำนวยการฯ กรรมการ 25 ท่าน และกรรมการผู้แทนภาคเหล่ากาชาดจังหวัด 12 ภาค จำนวน 12 ท่าน มีการประชุมคณะกรรมการฯ ปีละ 3 ครั้ง เป็นอย่างน้อย
  • นอกจากนั้นจะมี คณะกรรมการบริหารสภากาชาดไทย ซึ่งประกอบด้วย อุปนายิกาผู้อำนวยการฯ เลขาธิการ เหรัญญิก กรรมการสภากาชาดไทยผู้ได้รับการแต่งตั้งจากอุปนายิกาผู้อำนวยการฯ จำนวน 4 ท่าน มีหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินกิจการของสภากาชาดไทย ตามที่ได้รับมอบหมายจากกรรมการสภากาชาดไทย และให้มีอำนาจในการอนุมัติแทนกรรมการสภากาชาดไทย ในระหว่างที่ไม่มีการประชุมกรรมการสภากาชาดไทย คณะกรรมการบริหารประชุมเดือนละ 1 ครั้ง
  • รวมถึงมี คณะกรรมการจัดการสภากาชาดไทย ประกอบด้วย เลขาธิการ ผู้ช่วยเลขาธิการฯ เหรัญญิก ผู้ช่วยเหรัญญิกฯ ผู้อานวยการสำนักงานทุกสำนักงาน มีหน้าที่ดำเนินกิจการทั้งปวงของสภากาชาดไทยให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ ข้อบังคับ ข้อระเบียบ และระเบียบต่างๆ รวมถึงมติคณะกรรมการสภากาชาด และคณะกรรมการบริหารของสภากาชาด และให้มีอำนาจในการอนุมัติแทนคณะกรรมการบริหาร ในอำนาจต่างๆ ที่กำหนดไว้ในข้อระเบียบกรรมการบริหาร และระเบียบต่างๆ ที่ออกโดยกรรมการบริหาร คณะกรรมการเจ้าหน้าที่ประชุมทุกสองสัปดาห์
  • ปัจจุบัน มีนายเตช บุคนาค เป็นเลขาธิการสภากาชาดไทย

หน้าที่ของ ‘สภากาชาดไทย’ ทำไมซื้อ ‘โมเดอร์นา’

ภารกิจหลักของ สภากาชาดไทย จะมีหลักๆ อยู่ 4 ประเด็น คือ

1.บริการทางการแพทย์และสุขภาพอนามัย

  • มีหน้าที่ให้บริการรักษาพยาบาล ฟื้นฟูสภาพ สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้แก่ประชาชนและผู้ด้อยโอกาส ให้บริการชีววัตถุและยาปราศจากเชื้อที่มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วยและปลอดภัยตามมาตรฐานสากล พร้อมทั้งเป็นศูนย์กลางจัดหาและบริการดวงตาและอวัยวะที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลให้กับผู้ป่วยทั่วประเทศ จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และบุคลากรด้านสาธารณสุข อีกทั้งผลิตบุคลากรพยาบาลเฉพาะทาง

2.บรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัย

  • สภากาชาดไทยสามารถเข้าถึงผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็ว และให้บริการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยทั่วประเทศ ครอบคลุมทั้งอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย ภัยแล้ง และภัยหนาว ผู้ประสบภัยได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีโดยการมีส่วนร่วมของสังคมและชุมชน มีการจัดการระบบอาสาสมัครอย่างเป็นระบบ พร้อมจัดทำแผนรับมือภัยพิบัติให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อพัฒนาให้เป็นชุมชนต้นแบบพร้อมรับภัยพิบัติอีกด้วย

3.การบริการโลหิต

  • สภากาชาดไทย ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้มีหน้าที่หลักในการจัดหาโลหิตให้มีปริมาณเพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณภาพสูงสุด จากผู้บริจาคโลหิตด้วยความสมัครใจไม่หวังสิ่งตอบแทน เพื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วยทั่วประเทศ ทั้งในรูปโลหิต ส่วนประกอบโลหิต และผลิตภัณฑ์โลหิต ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการโดยยึดมั่นในนโยบายคุณภาพ คือ บริการประทับใจ โลหิตและผลิตภัณฑ์ มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ปลอดภัยทั้งผู้ให้และผู้รับ

4.ส่งเสริมคุณภาพชีวิต

  • สภากาชาดไทยเป็นองค์กรผู้นำด้านอาสาสมัครของประเทศ ด้วยระบบบริหารจัดการอาสาสมัครแบบบูรณาการ เพื่อให้โอกาสอาสาสมัครของสภากาชาดไทยได้ออกปฏิบัติงานที่เป็นการพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาส รวมถึงพระภิกษุ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งเพิ่มจำนวนอาสาสมัครที่ผ่านการอบรมตามเกณฑ์ของสภากาชาดไทยเข้าถึงประชาชนและประชาชนได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติงานของอาสาสมัครอย่างทั่วถึง “อาสาด้วยจิตกุศล บริการเพื่อนมนุษย์”
  • นายเตช กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ด้อยโอกาสประมาณ 11 ล้านคน ใน 77 จังหวัด ซึ่ง สภากาชาดไทย ไม่ได้เป็นรัฐ เป็นเพียงองค์การกุศลหนึ่งที่ต้องการช่วยเหลือประชาชน เท่าที่มีขีดความสามารถ และงบประมาณก็มีจำกัด จะต้องพยายามหางบประมาณมาช่วยเท่าที่จะทำได้

แผนจัดสรรวัคซีน ‘โมเดอร์นา’ แก่ประชาชน

นายเตช กล่าวต่อว่า สภากาชาดไทยได้รับการประสานจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ว่า ได้สำรองวัคซีน’โมเดอร์นา’ 1 ล้านโดส ให้แก่สภากาชาดไทย ซึ่งต่อมา สภากาชาดไทยได้มีหนังสือยืนยันการจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นาภายใต้เงื่อนไขที่ อภ.กำหนด

คาดว่าสภากาชาดไทยจะได้รับวัคซีนโมเดอร์นา ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 และต้นปี 2565

ขั้นตอนการจอง ‘วัคซีนโมเดอร์นา’

สภากาชาดฯ ได้ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้บริจาคมาที่กองทุนกาชาด เพื่อการจัดซื้อวัคซีน และยาโควิด-19 สำหรับประชาชน ส่วนองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)ที่ต้องการสั่งซื้อเพื่อไปฉีดให้แก่ประชาชนในพื้นที่นั้น ต้องดำเนินการตามเงื่อนไข ดังนี้

อบจ. ต้องจัดทำแผนการขอรับการจัดสรรวัคซีน โดยระบุจำนวนคนในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย 5 กลุ่ม ได้แก่

  1. คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง สตรีตั้งครรภ์
  2. ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป
  3. บุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลในถิ่นทุรกันดาร
  4. ผู้ที่ทำงานในศูนย์เด็กเล็ก ครู รร.อนุบาล ครู/อาจารย์
  5. บุคลากรที่ต้องปฏิบัติงานสัมผัสประชาชน ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน
  • อบจ. ที่ประสงค์จองวัคซีนโมเดอร์นา ต้องแจ้งมายังสภากาชาดไทยภายใน 21 ก.ค. พร้อมแผนจัดการวัคซีน
  • อบจ. ที่ประสงค์จองวัคซีน ต้องสนับสนุนค่าวัคซีนโดสละ 1,300 บาท
  • อบจ. ที่ได้รับจัดสรรวัคซีน ต้องฉีดให้ประชาชนฟรี และห้ามนำไปขายต่อเด็ดขาด
  • อบจ. ที่ได้รับจัดสรรวัคซีน ต้องชำระเงินเต็มจำนวนภายใน 23 ก.ค.

อย่างไรก็ตาม คาดว่าสภากาชาดไทย จะทยอยจัดสรรวัคซีนได้ ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564 เป็นต้นไป

รู้จักวัคซีน ‘โมเดอร์นา’ ทำไมใครๆ ก็อยากฉีด

  • วัคซีน โมเดอร์นา (Moderna) ถือเป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ลำดับที่ 4 ที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนปัจจุบัน โดยจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ณ วันที่ 13 พ.ค. 2564 และมีอายุจนถึง 12 พ.ค. 2565 (วัคซีนโควิด-19 ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนกับอย.ของไทย ตัวที่1-3 ได้แก่ ซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน)
  • วัคซีนโมเดอร์นาสามารถ กระตุ้นภูมิต้านทานได้สูง กว่าภูมิต้านทานจากพลาสมาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 3.4 เท่า มีประสิทธิผลการทดสอบเฟส 3 สูงถึง 94.1% เกือบเท่าวัคซีนโนวาแวค และไฟเซอร์ (ไม่ได้ศึกษาในเวลาเดียวกัน)
  • สำหรับประโยชน์ของการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาเข็มที่ 2 ไปแล้ว ภายหลัง 14 วัน สามารถป้องกันการติดโรคได้ถึง 94.1% ในประชากรทั่วไป และป้องกันการติดเชื้อโรคได้ถึง 86.4% ในผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
  • นอกจากนี้ยังลดความรุนแรงของโรคเมื่อติดเชื้อ 100% และลดอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้ 100%

ถ้าทำได้ก็ดีไปเลยครับ แต่อยากได้เร็วกว่านี้ได้ไหม เพราะทุกวันนี้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันเป็นหมื่นแล้ว…

บทความน่าอ่านและอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ lovetaifu.com

ขอขอบคุณที่มาจาก bangkokbiznews.com