การเลี้ยงหอยนางรม อย่างมืออาชีพ

การเลี้ยงหอยนางรม อย่างมืออาชีพ

เรื่องเกษตรวันนี้แอดฯจะนำเสนอเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่ง ที่คนส่วนใหญ่นิยมนำมารับประทานกันโดยเฉพาะท่านชายหลายท่านที่มักพูดกันปากต่อปากว่าทานแล้วทำให้ปึ๋งปั๋ง นั่นคือหอยนางรมนั่นเอง เป็นอย่างไรน่าสนใจแค่ไหนเราลองมาดูกัน

ข้อมูลทั่วไปของหอยนางรม

  • หอยนางรมเป็นหอยทะเลกาบคู่บางทีเรียกว่า “หอยอีรม” อาศัยอยู่ตามก้อนกินในน้ำตื้นบริเวณชายฝั่งทะเล ลักษณะโดยทั่วไป มีกาบสองกาบเป็นฝาประกอบกัน ขนาดความยาวประมาณ 6-8 เซนติเมตร กาบบนจะบางกว่ากาบล่าง เปลือกด้านนอกเป็นสีเทา ผิวของเปลือกจะไม่เรียบและมีรูปร่างไม่แน่นอน ส่วนกาบล่างจะเกาะยึดกับก้อนหินและมีความหนากว่ากาบบนเล็กน้อย เมื่อแกะฝากาบด้านบนออกจะเห็นผิวของเปลือกด้านในเป็นสีเทาอมขาวเรียบเป็นมัน เนื้อของหอยจะนิ่ม และมีลักษณะกลมรีมีสีขาวอมเทาติดอยู่ที่ด้านในของเปลือกสวนล่าง
  • หอยนางรมอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะสีผิวและรูปร่างเช่นเดียวกัน แต่มีขนาดที่ใหญ่กว่า โดยมีขนาดความยาวของเปลือกประมาณ 16-22 เซนติเมตร มักอาศัยเกาะติดอยู่ตามก้อนหินบริเวณน้ำลึก เวลาเก็บจะต้องดำน้ำลงไปเคาะขึ้นมา หอยนางรมชนิดนี้ชาวประมงเรียกว่า “หอยตะโกรม”
  • เนื้อหอยนางรมประกอบด้วย โปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส และไอโอดีนซึ่งเป็นธาตุอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ยิ่งไปกว่านั้นเนื้อหอยนางรมยังมีรสชาติที่อร่อยและย่อยง่าย สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น ออส่วน ยำหอยนางรม หอยนางรมทอดไข่ หอยนางรมดอง โดยเฉพาะเนื้อหอยตะโกรมหรือหอยนางรมยักษ์ นิยมบริโภคกันแบบสดๆกับน้ำจิ้มตามด้วยยอดกระถิน และเครื่องเคียง ว่ากันว่าเป็นอาหารบำรุงกำลังชั้นยอดโดยคิดราคาขายกันเป็นตัวๆ ซึ่งจะมีให้รับประทานเฉพาะตามร้านอาหาร หรือภัตตาคารใหญ่ๆ เท่านั้น เพราะมีราคาแพงและหายาก
  • ปัจจุบันหอยนางรมกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะหอยนางรมมีรสชาติดีและมีผู้นิยมบริโภคกันมาก แต่เดิมการเก็บหอยนางรมจะเก็บมาจากแหล่งธรรมชาติที่เกาะอยู่ตามก้อนหิน ต่อมามีผู้นิยมรับประทานกันมากขึ้นทำให้หอยนางรมมีราคาดี แต่มีบริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ชาวประมงจึงคิดหาวิธีเลี้ยงหอยนางรมกันมากขึ้น โดยการดัดแปลงจากก้อนหินมาเป็นเสาคอนกรีตนำไปปักเป็นระยะๆ ในน้ำตามบริเวณชายฝั่งทะเลทำเป็นฟาร์มเลี้ยง ปล่อยทิ้งไว้ให้หอยนางรมมาเกาะประมาณ 4-5 เดือนก็เก็บขายได้

ขั้นตอนการเลี้ยงหอยนางรม

  1. เตรียมสถานที่ เป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลยื่นไปในทะเลประมาณ 150-200 เมตร เป็นบริเวณพื้นดินที่น้ำท่วมถึง เวลาน้ำลงสามารถมองเห็นพื้นดินได้ เช่น บริเวณอ่างศิลาเขาสามมุข จังหวัดชลบุรี ปากน้ำแขมหนู จังหวัดจันทบุรี เป็นต้น
  2. เตรียมอุปกรณ์ในการเลี้ยง ได้แก่ เสาซีเมนต์ หล่อสี่เหลี่ยมขนาดหน้ากว้างข้างละประมาณ 4 นิ้ว ความยาวประมาณ 60-100 เซนติเมตร ด้านล่างส่วนปลายของเสาอาจจะเสี้ยมปลายเล็กน้อย เพื่อสะดวกในการปัก
  3. เมื่อน้ำลงจนสามารถมองเห็นดินแล้ว นำเสาซีเมนต์ที่เตรียมไว้ไปปักลงในดินให้เป็นแถวระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 50 เซนติเมตรระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 40 เซนติเมตร ให้โผล่ขึ้นมาจากดินประมาณ 3 ใน 4 ของความยาวของต้นเสา
  4. ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 2-3 เดือน หอยนางรมจะเข้ามาเกาะในเวลาน้ำขึ้นและจะมีการขยายพันธ์ุกันไปเรื่อยๆ โดยปกติหอยนางรมจะผสมพันธู์กันในระหว่างเดือนมีนาคม – เดือนเมษายน
  5. หอยนางรมจะหาอาหารกินเองตามธรรมชาติ หลังจากหอยนางรมมาเกาะแล้วปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 3-4 เดือนก็เก็บขายได้

วิธีขายหอยนางรม

การเก็บหอบนางรมขาย จะเลือกเก็บหอยตัวโตๆก่อน ส่วนหอยที่มีขนาดเล็กรอจนเจริญเติบโตเต็มที่จึงค่อยๆ ทยอยเก็บไปเรื่อยๆ ตลอดทั้งปี วิธีการเก็บจะลงมือเก็บในขณะน้ำลงจนมองเห็นพื้นดินโดยให้เหล็กรูปตะขอเจาะหรือแซะเอาหอยขึ้นมาทั้งเปลือกรวบรวมใส่ภาชนะขายส่งให้กับร้านอาหารหรือภัตตาคารทั่วไป ส่วนใหญ่จะมีพ่อค้าคนกลางมาเหมาซื้อถึงฟาร์ม ครั้งละประมาณมากๆ เพื่อขายส่งให้กับร้านค้าอาหารอีกทอดหนึ่ง ปกติหอยนางรมสดราคากิโลกรัมละ 50-120 บาท คัดตามขนาดและคุณภาพ

อาชีพนี้คงจะทำได้กับคนที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยติดกับทะเลหรือเกาะเท่านั้น

แต่ถึงกระนั้นคนที่อยู่ภาคอื่นๆก็ยังสามารถค้าขายเกี่ยวกับหอยนางรมได้เพราะสมัยนี้การคมนาคมสะดวกสบาย หากแอดฯมีที่ติดกับทะเล คงทำไปนานแล้วลงทุนค่าเสากับค่าแรงเท่านั้นนอกนั้นก็รอการมาของเจ้าหอยเท่านั้น..